วิธีการทำแอลกอฮอล์เจลล้างมือ


ในการทำแอลกอฮอล์เจลล้างมือแบบง่ายๆ แต่มีผลในการฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับมือนั้นมีสูตรการทำไม่ยุ่งยาก

ส่วนประกอบ ในการผลิตเจลแอลกอฮอล์ขนาด 1000 ซี.ซี.

1.กลีเซอรีน 10 ซี.ซี.หรือขนาด 2 ช้อนชา
2.แอลกอฮอล์ 70% ที่ใช้ล้างแผล 990 ซี.ซี.
3.น้ำมันหอมระเหยกลุ่มต่างๆ ตามชอบ
4.ขวดบรรจุเจลแอลกอฮอล์ เช่น ขวดใส่แชมพูสระผมที่หมดแล้ว

วิธีการทำ
นำกลีเซอรีน และ แอลกอฮอล์ คนให้เข้ากัน ใส่น้ำมันหอมระเหยกลิ่นที่ชอบลงไปแล้วคนให้เข้ากัน จากนั้นเทบรรจุในภาชนะที่เตรียมไว้ และปิดฝาให้สนิท ควรเก็บให้ห่างจากเปลวไฟ เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถระเหยและติดไฟได้

วิธีการล้างมือ

โดยทุกขั้นตอนทำ สลับ ซ้าย ขวา
1. ใช้ฝ่ามือถูกัน แล้วเปลี่ยนข้าง

2. ใช้ฝ่ามือถูหลังมือ และใช้นิ้วถูซอกมือ
3. ใช้ฝ่ามือถูฝ่ามือ และใช้นิ้วถูซอกมือ
4. ใช้หลังมือถูฝ่ามือ
5. ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ สลับ
6. ใช้ปลายนิ้วถู ขวางฝ่ามือ
7. ถูรอบข้อมือ

การล้างมือควรทำตอนไหน
-หลังไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก
-หลังการขับถ่าย
-ก่อนและหลังการเตรียมหรือปรุงอาหาร
-ก่อนรับประทานอาหาร
-ก่อนและหลังการสัมผัสผู้ป่วย
-หลังการสัมผัสสัตว์ทุกชนิด


การผลิตหน้ากากอนามัย

การผลิตหน้ากากอนามัย
การผลิตหน้ากากอนามัยใช้เอง ทำได้โดยการนำผ้าชนิดต่างๆ เช่นผ้ายืด ผ้าสาลู ผ้าฝ้าย (ผ้าที่ใช้ควรมีเส้นด้ายไม่น้อยกว่า 22 เส้นต่อพื้นที่ 1 ตารางนิ้ว) มาตัดเย็บโดยให้ผ้ามีความหนาอย่างน้อย 2 ชั้น ขนาดของผ้าควรมีความกว้างประมาณ 15 ซม. ยาวประมาณ 15 ซม. จับจีบตรงกลางผืนผ้า โดยให้กลีบมีขนาดเท่ากับ 3 ซม. ติดยางยืดสำหรับคล้องใบหูทั้งสองข้าง ความยาวของยางยืดปรับตามขนาดของใบหน้าของผู้สวมใส่ แนบไปกับใบหน้าตั้งแต่จมูกถึงคาง ไม่ให้มีช่องว่างระหว่างใบหน้ากับหน้ากาก

วิธีทำหน้ากากอนามัยแบบ 3 จีบ
อุปกรณ์

ผ้าลาย สำหรับด้านหน้า 1 ชิ้น

ผ้าพื้น สำหรับด้านหลัง 1 ชิ้น

ยางยืด ขนาด กว้าง 0.5 ซม. ยาว 7 นิ้ว 2 เส้น

ไม้บรรทัด กระดาษทำแบบ ที่กลิ้งผ้า กระดาษคาร์บอน

• กรรไกร ด้าย เข็มหมุด เข็มสอย

หมายเหตุ : ผ้าที่นำมาใช้ควรมีเนื้อแน่น ไม่ระคายผิวหน้าไม่ก่ออาการแพ้ หากใช้ผ้า 3 ชั้น จะเพิ่มประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัย และลดความเสี่ยงภัยด้านสุขภาพได้มากขึ้น

วิธีทำ

1. สร้างแพทเทิร์นหน้ากากขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง * ยาว ด้านละ 7.5 นิ้ว วัดเส้นเพื่อทำจีบจาก ด้านบนลงมา 2 นิ้ว 1 นิ้ว 0.5 นิ้ว 1 นิ้ว 0.5 นิ้ว 1 นิ้วตามลำดับ


2. นำแพทเทิร์นไปวางตัดบนผ้าลาย 1 ชิ้น ผ้าพื้น1 ชิ้น โดยไม่ต้องเผื่อตะเข็บ กลิ้งตามรอยเส้นจีบทั้ง 2 ชิ้น(หากไม่มีอุปกรณ์กลิ้งผ้าวาดแบบลงบนผ้าด้วยดินสอได้เลยค่ะแต่ต้องวาดด้านหลังผ้านะคะ)
3.พับจับจีบที่ช่องกว้าง 1 นิ้ว(สีฟ้า) จากด้านบนลงมา ให้ครบทั้ง 3 จีบ กลัดเข็มหมุดหรือเนาไว้และนำไปรีดเพื่อให้จีบอยู่ตัว ทำแบบเดียวกันทั้ง 2 ชิ้น 4. นำยางยืดมาวางที่มุมผ้าด้านที่มีลายตรงด้านกว้างให้ห่างจากด้านริมผ้าด้านบนและด้านล่าง 1.5 ซม.ทำอีกเส้นเช่นเดียวกัน แล้วเนาหรือตรึงไว้ให้แน่น 5.นำผ้าพื้นที่จับจีบเรียบร้อยแล้วมาวางทับผ้าลายที่ติดยางยืดไว้ กลัดเข็มหมุดหรือเนาไว้ แล้วตีเส้นเป็นรอยเย็บให้ห่างจากริมผ้า 0.5 ซม. เย็บรอบด้วยจักรหรือด้นถอยหลัง และเว้นช่องไว้สำหรับกลับผ้าประมาณ 1.5 นิ้ว 6.เมื่อเย็บเสร็จแล้วขลิบที่มุมผ้าทั้ง 4 มุมให้ใกล้รอยเย็บ เพื่อเวลากลับผ้าออกมาจะได้มีมุมที่สวยงาม เมื่อขลิบผ้าเรียบร้อยแล้วให้กลับผ้าด้านในออกมาตรงช่อง 1.5 นิ้ว ที่เราเว้นไว้ตอนเย็บรอบค่ะ


7. เมื่อกลับผ้าออกมาแล้ว สอยช่องว่างที่เว้นไว้ แล้วนำ ไปรีดให้เรียบร้อย หากต้องการให้มีความสวยงามเพิ่มขึ้น ก็สามารถตกแต่งด้วยดอกไม้ต่างๆ ได้ตามใจชอบเลยค่ะ

8.หน้ากากอนามัยที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว

หน้ากากอนามัย (Face Mask)

หน้ากากอนามัย (Face Mask)
หน้ากากอนามัย (Face Mask) เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจไปสู่บุคคลอื่นได้ เมื่อมีผู้ป่วยสงสัยที่มีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจหรือมีไข้ และมีประวัติสัมผัสหรือเดินทางมาจากพื้นที่ที่เกิดโรค ควรให้สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้า กระดาษทิชชู ปิดปาก จมูก เวลาไอจามทุกครั้ง และให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

หน้ากากอนามัยมีกี่ชนิด
หน้ากากอนามัย มีขายตามร้านขายยาและร้านขายสินค้าอเนกประสงค์ทั่วไป ราคาถูก ชนิดกระดาษสามารถกรองฝอยน้ำมูกน้ำลาย และอนุภาคเล็กๆได้มากกว่า 80%
หน้ากากอนามัยชนิดกระดาษ เป็นชนิดใช้แล้วทิ้ง หากเปื้อนน้ำมูกน้ำลาย นำไปซักไม่ได้
หน้ากากอนามัยชนิดผ้า สามารถซักและนำกลับมาใช้ซ้ำได้

วิธีการใช้หน้ากากอนามัย
1.เลือกหน้ากากอนามัยพอดีกับใบหน้า
2.ก่อนสวมหน้ากากควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด
3.สวมหน้ากากให้คลุมทั้งจมูกและปาก ปรับสายหน้ากากให้พอดีกับใบหน้า หน้ากากควรมีความกระชับเพื่อสวมใส่ แนบกับใบหน้าตั้งแต่จมูกถึงคาง ไม่ให้มีช่องว่างระหว่างใบหน้ากับหน้ากาก
4.หลังจากที่มีการใช้ สามารถซักเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (ในกรณีที่เป็นหน้ากากอนามัยชนิดผ้า) การซัก ควรซักให้สะอาดด้วยน้ำและผงซักฟอก และตากให้แห้ง
5.หากใช้หน้ากากอนามัยที่ทำจากกระดาษ ควรเปลี่ยนทุกวัน และทิ้งหน้ากากที่ใช้แล้วลงถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
6.หากหน้ากากมีการปนเปื้อนหรือชำรุด ควรเปลี่ยนอันใหม่ทันที
7.หลังจากเลิกใช้หน้ากาก หรือภายหลังจากการเปลี่ยนหน้ากาก ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง


การดูแลรักษาหน้ากากอนามัย
-ถ้าใช้หน้ากากอนามัยชนิดกระดาษควรเปลี่ยนวันละครั้ง และทิ้งหน้ากากที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่มีฝาปิด
-ถ้าใช้หน้ากากอนามัยชนิดผ้าสามารถซักด้วยน้ำและผงซักฟอก ผึ่งแดดจัดๆ ให้แห้ง แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก
-หากหน้ากากอนามัยชำรุด หรือเปรอะเปื้อนน้ำมูกหรือเสมหะมากควรเปลี่ยนใช้หน้ากากอนามัยอันใหม่
-ไม่ใช้หน้ากากอนามัยร่วมกับผู้อื่น

คำแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อ สำหรับผู้ที่เดินทางไป – กลับ ต่างประเทศ

1.หากไม่จำเป็นควรเลื่อนหรือชะลอการเดินทางไปเมืองหรือพื้นที่ที่มีการระบาดกว้างขวางต่อเนื่อง ดูได้จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th

2.หากจำเป็นต้องเดินทางไปพื้นที่เกิดการระบาด ให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไอ จาม หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด รวมทั้งปฏิบัติตามข้อแนะนำของทางการในพื้นที่นั้นๆอย่างเคร่งครัด

3.ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เกิดการระบาด ถ้ามีอาการของไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว เจ็บคอ ภายใน 7 วัน หลังจากเดินทางกลับให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาและคำแนะนำในการปฏิบัติตนอย่างเข้มงวด

4.สร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ดังนี้

-รับประทานอาหารที่ประโยชน์ โดยเฉพาะผักแลผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

-หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการไอ จาม

-นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

-ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

5.หากพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ภายในบ้านควรใส่หน้ากากอนามัย แยกที่นอน และไม่คลุกคลีกับผู้อื่นประมาณ 7 วัน หากพบในที่ทำงานและมีอาการไอ จามมาก ควรแนะนำให้หยุดอยู่บ้าน ในกรณีที่พบป่วยหลายคนในเลาใกล้ๆกัน ก็ควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่น


คำแนะนำ ข้อปฏิบัติสำหรับสถาบันกวดวิชา ร้านอินเตอร์เน็ตและร้านเกมส์

เนื่องจากปัจจุบันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอ็ช1เอ็น1 ในประเทศไทยมีการแพร่กระจายไปอย่างมาก จากข้อมูลการสอบสวนโรคในผู้ป่วยหลายราย พบว่า สถาบันกวดวิชา ร้านอินเตอร์เน็ต และร้านเกมส์ มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่กระจายเชื้อไปในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งอาจารย์ และเจ้าหน้าที่อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่จะกระจายเชื้อต่อเนื่องออกไปสู่ชุมชนอีกด้วย

เพื่อเร่งเตรียมการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ภายในสถานที่ของสถาบันกวดวิชา ร้านอินเตอร์เน็ต และร้านเกมส์ กระทรวงสาธารณสุข จึงขอให้คำแนะนำดังนี้

1.ทำความสะอาดอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะเรียน ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ราวบันได คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยการใช้น้ำละลายผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป อย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง สำหรับเมาส์ แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์การเรียนอื่นๆ ที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก ควรทำความสะอาดให้บ่อยที่สุดเท่าที่สามารถทำได้

2.เผยแพร่คำแนะนำ (เอกสาร โปสเตอร์ อีเมลล์) ให้กับนักเรียนหรือผู้มาใช้บริการ เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกัน การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ รวมถึงการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย

3.แนะนำ และสนับสนุนให้นักเรียนหรือผู้มาใช้บริการล้างมือบ่อยๆ โดยการจัดให้มีอ่างล้างมือ น้ำและสบู่ อย่างเพียงพอ

4.จัดเตรียมหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ไว้ที่จุดบริการ สำหรับนักเรียนหรือผู้มาใช้บริการร้านเกมส์

5.เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง

6.กรณีสถาบันกวดวิชาหรือโรงเรียนสอนพิเศษต่างๆ ควรเตรียมมาตรการชดเชยทั้งด้านการเรียน การสอน เวลาในการเรียน และการปฏิบัติงานของนักเรียน ครู อาจารย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่อื่นๆ หากมีความจำเป็นต้องงดการเรียนการสอน

คำแนะนำสำหรับสถานประกอบการและสถานที่ทำงาน


1.แนะนำให้พนักงานที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ พักรักษาตัวที่บ้าน หากมีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์
2.ตรวจสอบจำนวนพนักงานที่ขาดงานในแต่ละวัน หากพบขาดงานผิดปกติ หรือตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ในแผนกเดียวกัน และสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสอบสวนและควบคุมโรค
3.แนะนำให้พนักงานที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เฝ้าสังเกตอาการของตนเองเป็นเวลา 7 วัน ถ้ามีอาการป่วยให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน
4.ในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่แนะนำให้ปิดสถานประกอบการหรือสถานที่ทำงาน เพื่อการป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่
5.ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะทำงาน ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ราวบันได คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยการใช้น้ำผงซักฟอกทั่วไปเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง จัดให้มีอ่างล้างมือ น้ำและสบู่อย่างเพียงพอ ในบางวันควรเปิดประตู หน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง

ควรจัดทำแผนการประคองกิจการในสถานประกอบการและสถานที่ทำงาน เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง หากเกิดการระบาดใหญ่
(ดูรายละเอียดในเว็บไซต์ของสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค http://beid.ddc.moph.go.th/)

คำแนะนำสำหรับสถานศึกษา

คำแนะนำสำหรับสถานศึกษา

1.แนะนำให้นักเรียนที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ พักรักษาตัวที่บ้านหรือหอพัก หากมีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์

2.ตรวจสอบจำนวนนักเรียนที่ขาดเรียนในแต่ละวัน หากพบขาดเรียนผิดปกติ หรือตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปในห้องเรียนเดียวกัน และสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสอบสวนและควบคุมโรค

3.แนะนำให้นักเรียนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เฝ้าสังเกตอาการของตนเองเป็นเวลา 7 วัน ถ้ามีอาการป่วยให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน

4.หากสถานศึกษาสามารถให้นักเรียนที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ทุกคนหยุดเรียนได้ ก็จะป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ดี และไม่จำเป็นต้องปิดสถานศึกษา แต่หากจะพิจารณาปิดสถานศึกษา ควรหารือร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่

5.ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะเรียน ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ราวบันได คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยการใช้น้ำผงซักฟอกเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง จัดให้มีอ่างล้างมือ น้ำและสบู่ อย่างเพียงพอ ในบางวันควรเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง


คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป

-ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ

-ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น

-ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด

-รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ดื่มน้ำมากๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

-ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานาน โดยไม่จำเป็น

-ติดตามคำแนะนำอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด

การดูแลและป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ในเด็ก

เนื่องจากเด็กๆเวลาเล่นกัน จะมีการสัมผัสสิ่งรอบๆตัว และมักไม่ล้างมือ แถมเอานิ้วไปขยี้ตา จับปาก จับจมูกต่อเป็นประจำ เวลาเด็กหนึ่งคนติดหวัด เด็กอื่นๆก็เลยติดหวัดตามกันเป็นขบวนและแพร่มาให้ผู้ใหญ่ในบ้านด้วย

ฉะนั้นหากลูกคุณติดหวัด เชื้อโรคจากลูกคุณ อาจแพร่กระจายสู่คนและเด็กอื่นได้ด้วย ช่วยกันดูแลไม่ให้เชื้อไข้หวัดระบาดโดยคุณแม่ต้องสังเกต

1.เมื่อพบว่าเด็กมีอาการไม่สบาย เป็นไข้ เป็นหวัด 1 คน ต้องแยกออกมาจากเด็กคนอื่นๆ และรักษาให้หายก่อน เพื่อไม่ให้ติดต่อไปสู่เด็กและผู้ใหญ่คนอื่นๆในครอบครัว

2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เชื้อไวรัสมักฝังตัวอยู่นานประมาณ 10 วัน ถ้าเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่เชื้อจะอยู่ในร่างกายไม่เกิน 7 วัน เด็กยิ่งเล็กเชื้อยิ่งอยู่นาน

3.ทำความเข้าใจกับเด็กๆถึงวิธีป้องกันตนเอง ในการสร้างมารยาทการไอ จาม ต้องปิดปากด้วยกระดาษทิชชู ผ้าเช็ดหน้า หรือหน้ากากอนามัย

4.สอนให้เด็กล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ ฝึกให้ล้างมือให้สะอาดประมาณ 20 วินาที อาจหลอกล่อให้ร้องเพลงจบ ขณะล้างมือ เช่น ช้างช้างช้าง น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า และคุณพ่อคุณแม่รวมถึงผู้ใหญ่ทุกคนที่ดูแลเด็กป่วยอย่าลืมสังเกตมือด้วย

5.ที่สำคัญต้องกระตุ้นให้เด็กออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการเอาชนะเชื้อโรคต่างๆให้ได้

6.เด็กทุกคนควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 6 – 8 ถ้วยแก้ว หากดื่มน้ำไม่พอ จะเห็นปากและลิ้นแห้ง ปัสสาวะสีเข้ม

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นไข้หวัดใหญ่




ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

-มีไข้
-ปวดศีรษะ
-ปวดกล้ามเนื้อ
-รู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย
-เบื่ออาหาร
-เจ็บคอ
-มีน้ำมูกหรือคัดจมูก
-ไอแห้งๆ

ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดทั่วโลก

ในขณะที่อาการระยะแรกของไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดทั่วโลกนั้น อาจมีอาการคล้ายไข้หวัดตามฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงของอาการขึ้นอยู่กับธรรมชาติของไวรัส มีแนวโน้มว่าคนส่วนใหญ่จะหายได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ แต่อาการดังต่อไปนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจว่าคุณควรไปพบแพทย์
-หายใจถี่ขณะพัก หรือทำกิจกรรมเล็กๆน้อย
-มีไข้ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4-5 วัน
-หายใจเจ็บ พอรู้สึกหายใจลำบาก
-ไอมีเสมหะมาก หรือมีเลือดปน
-หายใจเสียงดัง
-คุณรูสึกดีขึ้นแล้ว แต่ก็กลับมามีไข้สูงหรือไอมากและมีเสมหะอีกครั้ง
-คุณรู้สึกง่วงซึมมาก ปลุกไม่ค่อยตื่นหรือรู้สึกสับสน หรือมึนงง






สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคน

ได้แก่

-เชื้อแพร่กระจายผ่านละอองฝอยที่ติดเชื้อจากทางเดินหายใจ

-ละอองฝอยถูกพ่นออกมาโดยการพูดคุย การถ่มน้ำลาย การไอ และจาม

-ละอองฝอยสามารถแพร่กระจายได้ประมาณ 1 เมตร (3ฟุต) จากผู้ติดเชื้อทั้งโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมผ่านการสัมผัสกับมือ หรือสิ่งของ

-เชื้อไวรัสสามารถอยู่ได้หลายชั่วโมงบนพื้นผิววัตถุ เสื้อผ้าหรือกระดาษ

-ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงสามารถติดเชื้อได้ผ่านการจับมือ หรือสัมผัสกับลูกบิดประตู คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ฯลฯ ที่มีเชื้อแล้วมาสัมผัสกับปาก จมูกหรือตา

-บางครั้งไวรัสสามารถแพร่กระจายในอากาศ

-ผู้ที่ติดเชื้อจะแพร่เชื้อได้มากที่สุดเมื่อมีไข้และไอ

-มีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่ติดเชื้อจะแพร่เชื้อได้ก่อนที่จะแสดงอาการป่วยหนึ่งวัน


วิธีการดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อสำหรับผู้ป่วย


เมื่อเรารู้สึกว่าตัวเองมีอาการป่วยคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือพบผู้อื่นที่มีอาการมีไข้ขึ้นสูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ มีน้ำมูก ไอ และจาม ให้สันนิษฐานว่าอาจได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เก่าหรือสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเราควรมีวิธีการดูแลและป้องกันตนเอง และผู้อื่นด้วยหลัก 5. ดังนี้

1.พักเรียน พักงาน
เมื่อเรารู้สึกตัวหรือพบว่ามีคนที่มีอาการไข้ขึ้น สูง ไอ จาม มีน้ำมูก และปวดศีรษะควรหยุดเรียนและลางานทันที เพื่อควบคุมวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อไม่ให้แพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น จนกว่าจะพักฟื้นหายเป็นปกติ


2.พบแพทย์
หามีประวิติการเดินทางกลับจากต่างประเทศควรไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการป่วย เพื่อดำเนินการรักษาอย่างถูกต้องตามอาการเพื่อฟื้นฟูให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงดังเดิม ในกรณีที่ไม่ได้เดินทางอาจดูแลรักษาตนเอง โดยปกติอาการจะดีขึ้นใน 3 วัน หากไม่ทุเลาให้ปรึกษาแพทย์


3.ใส่หน้ากาก
การ ใช้หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยทุกคนจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เอไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดไปยังคนอื่น จะเป็นแบบกระดาษใช้แล้วทิ้งหรือแบบผ้าที่เอามาซักแล้วใช้ใหม่ได้ ซึ่งสามารถลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่มีการติดต่อผ่านมาทางละอองจมูก น้ำลาย เสมหะ การไอ และการจาม


4.เพิ่มมารยาทการไอ จาม
หากมีการไอ จาม อย่าใช้มือป้องปากเพราะจะติดอยู่ที่มือและง่ายต่อการแพร่เชื้อ เมื่อมีการจับสิ่งของหรือแตะต้องตัวผู้อื่น แต่ให้ทุกคนพกผ้าเช็ดหน้าติดตัว เมื่อมีการไอหรือจามทุกครั้งให้นำผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูกเพื่อป้องกัน ละอองเชื้อไม่ให้กระจายไปสู่คนอื่น โดยหากไม่มีผ้าเช็ดหน้าให้ใช้กระดาษทิชชูหรือไอใส่แขนเสื้อท่อนบนของตัวเอง เชื้อไวรัสจะไม่กระจายไปที่อื่น นับเป็นการตัดวงจรการแพร่เชื้อได้ระดับหนึ่ง


5.พิถีพิถันในการล้างมือ
ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ สิ่งสำคัญพื้นฐานที่เราทุกคนจะต้องทำเป็นประจำอย่าให้ขาดคือ หมั่นล้างมือบ่อยๆให้สะอาด โดยวิธีการง่ายๆ คือการเปิดก๊อกให้น้ำไหลผ่านิ้วและมือพร้อมถูสบู่เป็นเวลาอย่างน้อย 20 – 30 วินาที หรือร้องเพลง Happy Birthday หรือเพลงช้างอย่างน้อย 1 จบ



การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ




- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่

- หากต้องดูแลผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่อดูแลเสร็จ ควรรีบล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทันที

-ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ (กินร้อน-ช้อนกลาง-ล้างมือ)

- ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

- หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังไอ จาม

- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งไข่ นม ผัก และผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงบุหรี่และสุรา





การรักษา

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส คือ ยาโอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) เป็นยาชนิดกิน หากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 2 วันหลังเริ่มป่วย จะให้ผลการรักษาดี
ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำ ๆ และยังรับประทานอาหารได้ อาจไปพบแพทย์ที่คลินิก หรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และดูแลรักษากันเองที่บ้าน โดย
- รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ เป็นต้น และเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะด้วยน้ำสะอาดไม่เย็น
- ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มาก ๆ งดดื่มน้ำเย็น
- พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้มากพอเพียง เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น หากรับประทานอาหารได้น้อย อาจต้องได้รับวิตามินเสริม
- นอนหลับพักผ่อนมาก ๆ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี
- ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ยกเว้นติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งต้องรับประทานยาจนหมดตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา






อาการป่วย

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1 3 วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วัน อาการป่วยใกล้เคียงกันกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียด้วย
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หายป่วยได้โดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 57 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบ รุนแรง จะพบอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้